อาหารภาคใต้

อาหารภาคใต้
ภาคใต้ เป็นภาคที่มีพื้นที่ติดชายฝั่งทะเลมากที่สุด ลักษณะ ภูมิประเทศ เป็นแหลมที่ยื่นลงไปในทะเลผู้คนที่อาศัยในดินแดนแถบนี้จึงนิยมทำการประมง เพราะมีทรัพยากรในท้องทะเลมากมาย เมื่ออาศัยอยู่ชายทะเลอาชีพเกี่ยวข้องกับทะเล อาหารหลักในการดำรงชีวิตจึงเป็นอาหารทะเล รสชาติของอาหารมีรสจัดกว่าภาคอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปได้แก่ แกงไตปลา แกงเหลือง น้ำบูดู และเนื่องจากรสของอาหารค่อนข้างเผ็ด คนใต้จึงนิยมรับประทานผักสดกับอาหารเป็นเครื่องเคียงเพื่อช่วยรสความเข้มข้น ของแกงต่างๆ

วันพุธที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557





อาหารอีสาน

วิธีปรุงอาหารพื้นเมืองของแต่ละท้องถิ่น มีลักษณะแตกต่างกันออกไปและสอดคล้องกับ ธรรมชาติและทรัพยากรอาหาร ที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การเลือกวิธีการปรุง ที่เหมาะสมกับชนิดของวัตถุดิบ และเป็นที่ถูกปากและพึงพอใจแก่ผู้บริโภค สิ่งเหล่านี้มิได้เกิดขึ้น อย่างอิสระหรือโดยบังเอิญ หากแต่เป็นผลจากการกลั่นกรอง ภูมิปัญญาของชาวบ้านที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ โดยการเลือกสรรอาหารที่มีประโยชน์สอดคล้องกับวิถีชีวิต และตัดสิ่งที่เกิดโทษออกไป
สำหรับชาวจังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร และอำนาจเจริญ มีกรรมวิธีปรุงอาหารที่เรียบง่าย สะดวก รวดเร็วและมีรสชาติแตกต่างกันออกไป ชาวบ้านมีวิธีการปรุงอาหารเพื่อบริโภคในชีวิตประจำวัน โดยอาหารดังกล่าวจัดไว้ใน “พา” (ภาชนะ หรือ ภาชน์) ซึ่งทำด้วยหวาย หรือไม้ไผ่ หรือ วัสดุอื่น ซึ่งมีลักษณะกลมขนาดจะแตกต่างกันแล้วแต่ความเหมาะสมของแต่ละครอบครัว พา จะเป็นภาชนะสำหรับใส่อาหารต่าง ๆ ที่รับประทานกับข้าวเหนียว
ชื่ออาหารหรือกับข้าว ของชาว อีสานเรียกด้วยชนิดของวัสดุที่ใช้ทำ หรือประกอบอาหาร (มิได้เรียกชื่อตามลักษณะการทำให้อาหารสุก)
จะสังเกตได้ว่า อาหารหลายอย่างของพื้นเมืองนิยมใส่ “ข้าวคั่วและข้าวเบือ” อาหารที่นิยมใส่ข้าวคั่วได้แก่ ลาบ ก้อย ก้อยกุ้ง ซุบ ส่า แกงอ่อม (บางครอบครัว) ส่วนข้าวเบือนิยมใส่ในแกงหน่อไม้ และ แกงอ่อม เพื่อให้อาหารมีลักษณะสัมผัสดี มีความข้นของน้ำแกงพอเหมาะ เมื่อปั้นข้าวเหนียวจิ้มจะทำให้ติดข้าวเหนียวได้มาก จะได้รสชาติดียิ่งขึ้น
  • ข้าวคั่ว คือ การนำข้าวสารเหนียวนำไปคั่วในกระทะหรือหม้อด้วยไฟอ่อนๆ ให้เหลืองมีกลิ่นหอม แล้วนำมาตำให้ละเอียด
  • ข้าวเบือ คือ การนำข้าวหม่า (ข้าวสารเหนียวแช่น้ำก่อนนึ่ง) มาตำให้ละเอียดนิยมใส่ในแกงอ่อม แกงหน่อไม้ (จะตำข้าวเบือใส่กับใบย่านางก่อนนำไปคั้นเอาน้ำ กรองให้ใสทำเป็นน้ำแกง)
เครื่องปรุงที่ขาดไม่ได้และเป็นเครื่องปรุงหลักคือ “ปลาร้าหรือปลาแดก” ในวัฒนธรรมอีสานถือว่าเป็นหนึ่งใน “วิญญาณห้าของความเป็นอีสาน”  ได้แก่ ข้าวเหนียว ลาบ ส้มตำ หมอลำ และปลาร้า เพราะปลาร้าให้ทั้งรสและกลิ่นที่ชวนชิม ให้โปรตีน วิตามิน และเกลือแร่ครบครันทีเดียว
สิ่งที่ขาดไม่ได้ในพาข้าวของชาวอีสานที่จะต้องมีทุกมื้อแทบจะขาดมิได้คือ ผักนานาชนิดผักต่างๆ นั้นส่วนใหญ่เก็บมาจากหัวไร่ปลายนา เป็นพืชที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ วิธีการเก็บผักมาบริโภคของชาวอีสานนั้นจะเก็บเฉพาะที่พอบริโภคในแต่ละมื้อ ไม่นิยมเก็บไว้เพื่อบริโภคมื้อต่อไป ดังนั้นหากสังเกตจากครัวชาวบ้านจะพบว่า ไม่มีกับข้าวที่ปรุงสำเร็จค้างไว้ จะมีเพียงแจ่วหรือปลาร้า หรืออาจมีปลาปิ้งเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น ก็ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าอย่างยิ่ง การเก็บผักแต่พอบริโภคเท่ากับเป็นการต่อชีวิตพืชพรรณเหล่านั้นให้มีดำรงอยู่และแพร่กระจายออกไป ดังนั้นความคิดที่ว่า ชาวอีสานอดอยาก ขาดแคลนอาหารนั้น จึงเป็นคำกล่าวที่เกิดจากการเข้าใจผิด แท้ที่จริงแล้วพวกเขามีมาก จนไม่จำเป็นต้องเสียเวลาเก็บมาสะสมไว้ จะบริโภคเมื่อไรก็เดินไปเก็บ แหล่งอาหารของชาวอีสานไม่ได้อยู่ไกลจากบ้านของตนเลย มีอยู่ทุกที่ไม่ว่าริมรั้ว ห้วย หนอง หัวไร่ปลายนา ซึ่งล้วนแต่ได้คุณค่าทางโภชนาการ สดใหม่ เป็นพืชผักสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคได้
แหล่งอนุรักษ์ธรรมชาติ (รวมทั้งแหล่งอาหารของชาวบ้านด้วย) คือ ประจำหมู่บ้าน ที่นี่เป็นที่หวงห้ามมิให้ใครบุกรุกเข้าไปทำลาย แต่เข้าไปเก็บเห็ด หาหน่อไม้ หายอดผักหวานและผักอื่นๆ มารับประทานได้ ดอนปู่ตา จึงเป็นภูมิปัญญาของชาวอีสานอย่างหนึ่งซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญรองมาจากแม่น้ำ
อย่างไรก็ดี ในการนำเสนอเรื่องอาหารในหัวข้อต่างๆ ณ ที่นี้อาจมีบ้างที่แตกต่างจากจังหวัดอื่นๆ ในภาคอีสาน ตลอดจนส่วนประกอบ/ส่วนผสมและการเรียกชื่ออาจจะแตกต่างกันด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น